เข้าช่วงหน้าร้อนทีไร เชื่อว่าเพื่อนๆ หลายคนต้องเจอปัญหานี้และบ่นเป็นเสียเดียวกันเลยว่า “ร้อนนนนน! ร้อนอะไรขนาดนี้ประเทศไทย!?” ความร้อนที่ระอุจนแทบละลาย เดินไปไหนมาไหนก็มีแต่เสียงบ่นจากทุกคนรอบข้าง อุณหภูมิความร้อนที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี ส่งผลกระทบกับชีวิตและสุขภาพของคนไทยอย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะโรคภัยจากความร้อนที่เกิน 40 องศาฯ อย่าง “ฮีทสโตรก” (Heatstroke) หรือโรคลมแดด ภัยเงียบที่แทบไม่แสดงอาการ แต่คร่าชีวิตคนไทยไปมากกว่า 30 คนต่อปี และมีรายงานผู้ป่วย ราว 3,000 คนต่อปี


เลี่ยงฮีทสโตรก เลือกเสื้อผ้าเนื้อโปร่งใส่สบาย คลายร้อน คลิก


จากข้อมูลของ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน 2567 แค่ 2 เดือน ก็มีผู้เสียชีวิตจากโรคฮีทสโตรกแล้วกว่า 30 คน ซึ่งสูงกว่าปีที่ผ่านมาถึง 2 เท่า จากสถิติปี 2566 ในบทความนี้ ทรูช้อปปิ้ง จึงอยากชวนเพื่อนๆ มาทำความรู้จักพร้อมเตรียมรับมือกับ Heatstroke โรคร้ายภัยเงียบหน้าร้อนที่ใครก็เสี่ยงได้ อันตรายถึงชีวิต! ฮีทสโตรกคืออะไร อาการฮีทสโตรก สาเหตุฮีทสโตรก กลุ่มเสี่ยงฮีทสโตรก วิธีป้องกันฮีทสโตรก และการรักษาฮีทสโตรกเบื้องต้น แม้จะเลี่ยงยากแต่เลี่ยงได้ เอาล่ะอย่ารอช้ามาศึกษาข้อมูลไปพร้อมกันได้เลย 


ใครบ้างอยู่ในกลุ่มเสี่ยงฮีทสโตรก?

กลุ่มเสี่ยงฮีทสโตรก คือคนที่มีความอ่อนไหวในเรื่องสุขภาพ หรือผู้ที่ต้องทำงาน ทำกิจกรรมกลางแดดจัดเป็นเวลานาน โดยพบผู้ป่วยสูงสุดในช่วงฤดูร้อน และกลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุดได้แก่ อายุ 10-14 ปี 15-59 ปี และอายุ 60 ปีขึ้นไป อาชีพที่มีความเสี่ยงมากที่สุด คือ

  • ผู้มีอาชีพก่อสร้าง เกษตรกร 
  • ตำรวจ ทหาร ที่ไม่ได้เตรียมพร้อมทางด้านร่างกาย
  • นักกีฬา นักวิ่ง นักฟุตบอลที่ต้องอยู่กลางแจ้งนานๆ 
  • เด็กเล็ก วัยทารกจนถึงอนุบาล 
  • ผู้สูงอายุ 
  • หญิงตั้งครรภ์ 
  • ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ 
  • ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หรือผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคอ้วน โรคหัวใจ โรคปอด โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไทรอยด์เป็นพิษ 


กลุ่มเสี่ยงของโรคฮีทสโตรก พบมากที่สุดในเขตภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และนอกจากกลุ่มผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และผู้ที่มีโรคประจำตัวแล้ว ประชาชนทั่วไปสุขภาพปกติ แต่พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือต้องทำกิจกรรมกลางแจ้งกลางแดดร้อนจัดเป็นเวลานาน ก็มีความเสี่ยงต่อภาวะฮีทสโตรกได้เช่นกัน ดังนั้น ควรเลี่ยงการทำกิจกรรมดังกล่าว ก็เป็นการป้องกันอาการฮีทสโตรกได้ดีที่สุดทางหนึ่ง 


สังเกตสาเหตุและอาการฮีทสโตรก 

เริ่มต้นรู้จัก ฮีทสโตรกคืออะไร ? "ฮีทสโตรก" โรคลมร้อนหรือโรคลมแดด เกิดจากภาวะที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้น มากกว่า 40 องศาเซลเซียส จนไม่สามารถปรับตัว หรือควบคุมระดับความร้อนภายในร่างกายได้ โดยสาเหตุหลักๆ มักเกิดจากการที่ผู้ป่วยอยู่กลางแดดจัด มีความชื้นสูงเป็นระยะเวลานาน


รวมถึงการออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมหนักติดต่อกันโดยไม่พัก การดื่มน้ำไม่เพียงพอ สวมเสื้อผ้าที่ไม่ระบายอากาศ หนาหรือรัดแน่นเกินไป ทำให้เหงื่อไม่สามารถระเหยออกได้ รวมทั้งการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งไปรบกวนการควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย โดยจุดที่ใช้แยกเบื้องต้นว่า ตัวคุณหรือคนรอบข้างเพียงแค่มีอาการอ่อนเพลียจากความร้อน หรือกำลังมีอาการฮีทสโตรก ให้สังเกตดังนี้ 

อาการอ่อนเพลียจากความร้อน จะรู้สึกหน้ามืด วิงเวียนศีรษะ จะเป็นลม มีเหงื่อออกมาก ผิวหนังชื้น คลื่นไส้หรืออาเจียน ปวดกล้ามเนื้อ รู้สึกกระหายน้ำมาก โดยอาการอ่อนเพลียจากความร้อน อาจไม่อันตรายมากนัก แต่ก็อาจกลายเป็นโรคลมร้อนหรือฮีทสโตรก ในผู้ที่มีสุขภาพอ่อนไหวหรือกลุ่มเปราะบาง 


อาการของโรคฮีทสโตรก ในส่วนของอาการฮีทสโตรก ผู้ป่วยจะเริ่มตัวร้อน มีไข้หรืออุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น แต่ไม่มีเหงื่อออก หรือมีเหงื่อออกมากผิดปกติ ผิวหนังร้อนและแห้ง รู้สึกกระหายน้ำมาก มีอาการชักเกร็งหรือเป็นโรคลมชัก รวมไปถึงมีอาการร่วมอื่นๆ อย่างเช่น คลื่นไส้อาเจียน ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีแดง มีผื่นขึ้นตามตัว ตัวแดง ตัวบวม หน้ามืด ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ใจสั่น หายใจเร็วขึ้น หายใจหอบ ปวดกล้ามเนื้อ เป็นตะคริว และมีความผิดปกติทางระบบประสาท เช่น เพ้อ ชัก กระสับกระส่าย มึนงง เดินโซเซ ซึม สับสน ส่วนในเด็กเล็กที่ยังไม่สามารถสื่อสารได้ อาจมีอาการง่วงนอน ตัวอ่อนและไม่มีแรง 


สัญญาณเตือนที่ต้องระวัง อันตรายจากฮีทสโตรก ต้องได้รับการตอบสนองหรือปฐมพยาบาลอย่างรวดเร็ว เพราะถือว่าเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงมาก คือ 

  • ยังรู้สึกไม่สบายหรืออาการไม่ดีขึ้น แม้พักผ่อนในที่มีอากาศเย็นแล้วมากกว่า 30 นาที รวมถึงดื่มน้ำเข้าไปแล้วจำนวนมาก 
  • มีอุณหภูมิร่างกายมากกว่า 40 องศาเซลเซียส 
  • แม้รู้สึกร้อนมาก แต่ยังไม่มีเหงื่อออก 
  • หายใจเร็วหรือหายใจถี่ รู้สึกสับสน มึนงง 
  • มีอาการชัก หมดสติ ไม่รู้สึกตัวและไม่ตอบสนองใดๆ 


วิธีป้องกันฮีทสโตรก 

ได้รู้จักกันไปแล้วว่า ฮีทสโตรกคืออะไร และอันตรายจากฮีทสโตรก ถึงแม้จะฟังดูน่ากลัวและมีผลรุนแรงต่อชีวิตและสุขภาพ แต่สำหรับผู้คนในหลายสาขาอาชีพ ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องอยู่บริเวณอากาศร้อนหรืออยู่กลางแจ้งนานๆ ดังนั้น ต้องอาศัยมีวิธีหรือแนวทางในการป้องกัน ไม่ให้เกิดอาการฮีทสโตรกแทน ดังนี้ 

  • เมื่อต้องอยู่ในที่บริเวณอากาศร้อนหรือกลางแจ้งนานๆ ให้หาทางหลบเข้าที่ร่มเป็นพักๆ สลับๆ กัน 
  • ผู้ที่จำเป็นต้องทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่อุณหภูมิร้อนจัด ควรดื่มน้ำให้มากเพียงพอ หมั่นจิบน้ำบ่อย ๆ เป็นสม่ำเสมอ อย่าปล่อยให้หิวกระหายแล้วค่อยดื่ม 
  • สวมหมวกปีกกว้าง แว่นกันแดด กางร่ม และเลี่ยงใส่เสื้อผ้าสีเข้ม เลือกสวมเสื้อผ้าสีอ่อน เช่น สีขาว สีเหลือง ที่เนื้อผ้าบางเบา ระบายอากาศได้ดี ไม่รัดแน่น 
  • เลี่ยงหรืองดทํากิจกรรมหรือออกกําลังกายหนักๆ ในช่วงเวลากลางวันที่อากาศร้อนมาก ถ้าเป็นไปได้ควรเลือกทำกิจกรรมในช่วงเวลาตอนเช้าตรู่ หรือตอนเย็นเมื่อพระอาทิตย์ตกดินแทน 
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่ทำให้เกิดภาวะร่างกายขาดน้ำ เช่น เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และคาเฟอีน อย่างกาแฟ เหล้า เบียร์ หากร่างกายเราไม่สามารถชดเชยน้ำได้มากพอ จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคลมแดด 
  • ไม่ปล่อยให้เด็ก ผู้สูงอายุ หรือสัตว์เลี้ยงอยู่ในรถที่จอดทิ้งไว้ ในที่ที่มีอากาศร้อน เพราะอุณหภูมิในรถอาจเพิ่มขึ้นมากกว่าที่เป็นจริง นอกจากนี้ การอยู่ในรถที่ติดเครื่องยนต์กลางแจ้งยังเพิ่มความเสี่ยงได้รับก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ซึ่งมีผลต่อระบบประสาท จึงควรหลีกเลี่ยงเช่นกัน การจอดรถในที่ร่มหรือเปิดหน้าต่างรถ ก็อาจไม่ช่วยให้เลี่ยงโรคลมแดดได้ 
  • ระมัดระวังหากกําลังรับประทานยาบางชนิดหรือมีโรคประจำตัว ที่อาจไปเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นการโรคลมแดด


วิธีปฐมพยาบาลผู้มีอาการฮีทสโตรก 

สิ่งที่สำคัญอย่างมากนอกจากการป้องกันอาการฮีทสโตรก ก็คือ การช่วยเหลือเบื้องต้น หรือ วิธีปฐมพยาบาล เพราะผู้มีอาการฮีทสโตรกถือเป็นช่วงเวลาวิกฤตต่อชีวิต ฉะนั้นอย่างแรกที่ควรทำคือ ต้องรีบปฐมพยาบาล โดยการลดอุณหภูมิร่างกายให้เร็วที่สุด และเมื่อพบเห็นคนที่เป็นลมแดด หรือสงสัยว่าตัวเราเองอาจกำลังมีภาวะโรคลมแดด ควรโทรติดต่อเบอร์ฉุกเฉิน 1669 เพื่อเรียกรถพยาบาลหรือหน่วยกู้ภัย ขณะที่รอความช่วยเหลืออยู่นั้น สามารถช่วยเหลือปฐมพยาบาลเบื้องต้น ได้ดังนี้ 

  • ย้ายผู้ป่วยเข้าที่ร่มหรือในตัวอาการให้เร็วที่สุด
  • จัดท่าให้นอนหงาย ยกขาสูง 
  • หากสวมเสื้อหลายชั้น ควรถอดเสื้อชั้นนอกออก ปลดกระดุมหรือคลายเสื้อผ้าด้านใน
  • ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบ เช็ดตามจุดต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณหลังคอ รักแร้ ขาหนีบ 
  • ใช้พัดลมเป่าระบายความร้อน หรือฉีดน้ำรดตัว หรือนำผู้ป่วยลงแช่น้ำเย็น 
  • หากผู้ป่วยมีอาการยังรู้สึกตัวอยู่ ให้จิบน้ำเกลือให้มากที่สุดเพื่อทดแทนการขาดน้ำ แต่หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำเย็นจัด เพราะอาจทำให้ปวดท้อง 
  • นำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด 


มาถึงตอนนี้ เพื่อนๆ คงพอรู้จักกันแล้วว่า ฮีทสโตรกคืออะไร มีวิธีป้องกัน และการดูแลเบื้องต้นอย่างไร ก็อยากขอเน้นย้ำอีกครั้งว่า ฮีทสโตรกเป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรง หากไม่ได้รับการรักษา หรือช่วยเหลืออย่างทันท่วงที อาจทําให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในอวัยวะสำคัญ อย่างเช่น สมอง หัวใจ ไต หรืออวัยวะอื่นๆ จนเกิดความเสียหายถาวรหรือแม้กระทั่งการเสียชีวิต ดังนั้น เมื่อพบผู้มีอาการจากโรคลมแดด หรือหากสังเกตตัวเราเองว่าคล้ายจะมีอาการฮีทสโตรก ก็ควรรีบดูแลปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อเสี่ยงหลีกอาการหนัก และรีบพบแพทย์หรือไปโรงพยาบาลโดยเร็วจะดีที่สุด

แชร์ :