แม้ว่า “วันแรงงาน” ซึ่งตรงกับวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี จะไม่ถือว่าเป็นวันหยุดราชการ เพราะหน่วยงานราชการยังคงเปิดทำงานและให้บริการตามปกติ แต่ก็เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญที่น่าสนใจและควรค่าแก่การระลึกถึง ไม่แพ้วันสำคัญอื่นๆ วันแรงงานแห่งชาติ (National Labour Day) ตรงกับวันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันที่กำหนดขึ้นเป็นสากลทั่วโลก เพื่อระลึกถึงสิทธิและความสำคัญของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน อยากรู้กันมั้ยว่า ประวัติศาสตร์วันแรงงานมีที่มาที่ไปอย่างไร และประวัติวันแรงงานแห่งชาติในประเทศไทย เริ่มขึ้นเมื่อไหร่ เรามีคำตอบมาฝากกันในบทความนี้แล้ว


ประวัติศาสตร์ ที่มาของ “วันแรงงาน”


ในอดีตประเทศแถบยุโรปถือว่า “วันเมย์เดย์” (May Day) คือ วันเริ่มต้นฤดูใหม่ในการทำเกษตรกรรม ช่วงนี้ของทุกปีจึงมีการจัดงานฉลองอย่างยิ่งใหญ่ขึ้นเพื่อเป็นการบวงสรวงขอให้เก็บเกี่ยวพืชผลได้ดีในปีนั้น ๆ ซึ่งประเพณียังคงมีสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน แต่แปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา จากแรกที่เป็นช่วงวันหยุดพักผ่อนประจำปี กลายเป็นวันหยุดที่กำหนดให้เป็นวันหยุดทั่วไป เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของผู้ใช้แรงงาน ที่มีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ


ประวัติศาสตร์วันแรงงานสากล สามารถย้อนไปถึงการเดินขบวนในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2429 ในชิคาโก ซึ่งคนงานเรียกร้องให้ทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน การประท้วงเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวขนาดใหญ่ที่สนับสนุนสภาพการทำงานที่ปลอดภัยขึ้น ค่าจ้างที่ดีขึ้น และกฎหมายแรงงานที่เข้มงวดขึ้น การเคลื่อนไหวดังกล่าวแพร่กระจายไปทั่วสหรัฐอเมริกาและในที่สุดไปยังส่วนอื่น ๆ ของโลก


ในพ.ศ.2432 การประชุมสังคมนิยมระหว่างประเทศได้ประกาศให้วันที่ 1 พฤษภาคมเป็นวันแรงงานสากลเพื่อรำลึกถึงการประท้วงในชิคาโกและเรียกร้องให้มีการจัดตั้งชั่วโมงทำงาน 8 ชั่วโมงตั้งแต่นั้นมา วันดังกล่าวถือเป็นวันหยุดราชการในหลายประเทศทั่วโลก 


ในประเทศไทย วันแรงงานก็ตรงกับวันที่ 1 พฤษภาคมเช่นกัน วันหยุดนี้ถูกกำหนดขึ้นครั้งแรกในปีพ.ศ. 2478 โดยรัฐบาลไทย เพื่อยกย่องคุณูปการของแรงงานที่มีต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ วันดังกล่าวยังเป็นโอกาสในการส่งเสริมสภาพการทำงานที่ดีขึ้นและเรียกร้องให้มีกฎหมายแรงงานที่เข้มงวดขึ้น



ประวัติวันแรงงานแห่งชาติในไทย


เมื่อประเทศไทยมีการปรับตัวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม ปัญหาด้านแรงงานก็มีมากขึ้นตามไปด้วย อีกทั้งยังมีความซับซ้อนและแก้ไขได้ยาก ในปี พ.ศ. 2475 ซึ่งตรงกับสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ประเทศไทยจึงเริ่มมีแนวคิดด้านการบริหารแรงงาน โดยแบ่งเป็นการจัดสรร พัฒนาฝีมือแรงงาน คุ้มครอง และดูแลสภาพการทำงานของแรงงานไทย


แนวคิดเหล่านี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นรากฐานเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง จากนั้นตามประวัติศาสตร์วันแรงงาน ในวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2499 คณะกรรมการจัดงานที่ระลึกแรงงานได้จัดประชุม โดยที่ประชุมมีความเห็นตรงกันว่าควรกำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันแรงงานไทย จึงได้มีหนังสือถึงนายรัฐมนตรีเพื่อขอรับรองวันที่ 1พฤษภาคม วันแรงงานไทยนับแต่นั้นเป็นต้นมา โดยในช่วงแรกมีชื่อว่าวันกรรมกรไทยจากนั้นจึงเปลี่ยนชื่อเป็น วันแรงงานแห่งชาติ


จากนั้นเมื่อ พ.ศ. 2500 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติกำหนดวิธีระงับข้อพิพาทแรงงาน ซึ่งในพรบ.นี้มีสาระสำคัญคือ กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิ์หยุดงานในวันแรงงานแห่งชาติได้ แต่ว่าพรบ.นี้ มีอายุได้เพียง 18 เดือนก็ถูกยกเลิกไป จากนั้นมีการประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 19 มาแทน ระบุให้อำนาจกระทรวงมหาดไทยออกประกาศกำหนดเรื่องการคุ้มครองแรงงาน และยังกำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคม วันแรงงานเป็นวันหยุดประเพณี อย่างไรก็ตามได้มีการขอความร่วมมือไม่ให้มีการออกมาเฉลิมฉลองเพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองในยุคนั้น


เวลาผ่านไปจนกระทั่งปี พ.ศ.2517 ทางรัฐบาลจึงอนุญาตให้สามารถกลับมาฉลองในวันแรงงานได้อีกครั้ง โดยสามารถจัดงานฉลองและกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามสมควร และยังได้มอบหมายให้กรมแรงงานจัดงานฉลองวันแรงงานแห่งชาติขึ้นที่สวนลุมพินี โดยภายในงานมีการจัดทำบุญตักบาตร นิทรรศการแแสดงความรู้ รวมถึงกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านแรงงานไทยอีกมากมาย


และในช่วงหลายปีที่ผ่านมา วันแรงงานในประเทศไทยได้กลายเป็นวันสำคัญที่คนงานจะมารวมตัวกัน และเรียกร้องสิทธิของพวกเขา สหภาพแรงงานและองค์กรลูกจ้าง มักจัดการชุมนุมหรือเดินขบวนเพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ เช่น ค่าจ้างที่เป็นธรรม ความปลอดภัยในที่ทำงาน และความมั่นคงในอาชีพ เป็นต้น


กิจกรรมในวันแรงงานแห่งชาติ


1 พฤษภาคม วันแรงงาน มีกิจกรรมที่จัดขึ้นในหลายภาคส่วนทั้งโดยหน่วยงานรัฐและเอกชน ส่วนใหญ่มักเป็นนิทรรศการเพื่อให้ความรู้ด้านแรงงาน ความสำคัญของแรงงาน และการคุ้มครองสิทธิของกลุ่มแรงงานไทย นอกจากนี้ยังมีการประชุมหรือเสวนาในหัวข้อสำคัญ ๆ ด้านสิทธิของแรงงานที่จัดขึ้นในหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อตระหนักถึงปัญหาและมองหาแนวทางแก้ไข ทั้งเพื่อแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย


ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับสวัสดิภาพของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย ซึ่งทำงานในงานที่ได้ค่าตอบแทนต่ำและอันตราย โดยไม่ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย 1 พฤษภาคม วันแรงงานได้กลายเป็นเวทีสำคัญในการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความจำเป็นในการปรับปรุงสิทธิและการคุ้มครองของแรงงานเหล่านี้


โดยสรุปแล้ว ประวัติศาสตร์วันแรงงานสากลและวันแรงงานไทย เป็นวันหยุดสำคัญที่ตระหนักถึงคุณูปการของแรงงานต่อสังคม และยังเป็นการเน้นย้ำถึงความต้องการสภาพการทำงานที่ดีขึ้นไปจนถึงการคุ้มครองแรงงานหรือวันหยุดที่เหมาะสม สิ่งเหล่านี้ถือเป็นเครื่องเตือนใจว่าการต่อสู้เพื่อสิทธิของคนงานยังดำเนินอยู่และยังมีอีกหลาย ๆ สิ่งที่ต้องพัฒนากันต่อไปในอนาคต

แชร์ :