คนรักสุขภาพหลายคนคงรู้ดีว่าอาหารที่ดีที่สุดคืออาหารปรุงสุก สดใหม่ และควรลดหวาน มัน เค็ม เพื่อสุขภาพที่ดี แต่รู้ไหมว่านอกจากนี้เรายังต้องลดอาหารที่มีโซเดียมสูงด้วย เพราะโซเดียมสามารถแอบแฝงอยู่ในอาหารได้ทุกชนิด หากบริโภคเกินปริมาณที่เหมาะสมแล้วล่ะ ก็อาจส่งผลเสียต่อร่างกายแบบไม่รู้ตัว! ดังนั้น ใครอยากสุขภาพดี ลองมาทำความรู้จักกับโซเดียมกันให้มากขึ้น พร้อมอาหารโซเดียมสูงที่เราควรเลี่ยง และวิธีลดโซเดียมเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้นกันดีกว่า


เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ อาหารเสริมกระเทียม บำรุงตับ คลิก


โซเดียม ประโยชน์และโทษที่ควรรู้ กินเท่าไหร่ถึงจะดี



โซเดียม ประโยชน์ของสารเกลือแร่ชนิดนี้คือมีส่วนช่วยควบคุมสมดุลของของเหลวภายในร่างกาย ช่วยรักษาระดับความดันโลหิตเป็นปกติ นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยในการทำงานของระบบประสาท กล้ามเนื้อ ช่วยให้ไตและลำไส้เล็กดูดซึมอาหารให้ดีขึ้น


อย่างไรก็ตามหากบริโภคมากเกินความจำเป็น โซเดียมก็อาจส่งผลร้ายต่อร่างกายได้เช่นกัน เพราะหากโซเดียมในร่างกายสูงเกินไปจะทำให้เลือดข้น ทำให้ร่างกายดึงน้ำในเซลล์ออกมาสู่กระแสเลือด กลายเป็นสาเหตุของโรคความดันโลหิต เพระไตของเราต้องทำงานหนักขึ้น จนอาจเกิดโรคไตเรื้อรังและภาวะไตวาย ทำให้หัวใจทำงานหนัก และส่งผลให้ร่างกายบวมน้ำ โดยเฉพาะในบริเวณใบหน้า มือ เท้า และขา รวมถึงทำให้ผิวแห้งกร้านด้วย


สำหรับส่วนของ ปริมาณที่แนะนำต่อวันในการบริโภคโซเดียม ก็คือไม่เกิน 2,300 มิลลิกรัม หรือเทียบเท่าเกลือป่นประมาณ 1 ช้อนชา แต่หากใครมีความเสี่ยงเป็นโรคความดันโลหิตสูง หรือเป็นผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ก็ควรบริโภคไม่เกิน 1,500 มิลลิกรัมต่อวันจะดีที่สุด


7 อาหารที่มีโซเดียมสูง ควรเลี่ยง



1. เฟรนช์ฟราย

มันฝรั่งทอดหรือเฟรนช์ฟรายเป็นอาหารไขมันสูง แต่นอกจากนั้นยังเป็นอาหารที่มีโซเดียมสูงด้วย เพราะทั้งเกลือที่ใช้โรยปรุงรสและซอสที่ใช้จิ้มต่างก็เต็มไปด้วยโซเดียม


2. ส้มตำปูปลาร้า

ส้มตำหากทำดี ๆ และเลือกใช้วัตถุดิบที่ดีก็เป็นอาหารเพื่อสุขภาพได้ แต่เมนูส้มตำปูปลาร้านั้นมีวัตถุดิบหลักคือปลาร้าที่ผ่านการหมักเกลือ รวมถึงปูที่ใช้ปูดองเค็ม นี่ยังไม่นับรวมผงชูรสที่พ่อค้าแม่ค้าอาจเติมลงไปแบบหนักมือ ไม่บอกก็รู้ว่าโซเดียมจัดหนักจัดเต็มแน่นอน


3. ยำต่าง ๆ

เมนูยำเป็นอีกหนึ่งเมนูอาหารที่มีโซเดียมสูงเพราะรสชาติที่จัดจ้าน ถึงเครื่อง หนักเครื่องปรุงรสทั้งน้ำปลา น้ำหมักดอง ของดองต่าง ๆ 


4. น้ำจิ้มและซอส

น้ำจิ้มและซอสเป็นเครื่องจิ้มที่ขาดไม่ได้สำหรับอาหารไทย จีน ฝรั่ง และอาหารเกือบทุกชาติ แต่การกินน้ำจิ้มและซอสต่าง ๆ มากไปก็ไม่ดีต่อร่างกายเนื่องจากมีโซเดียมสูง เพราะส่วนผสมในน้ำจิ้มและซอสเหล่านั้นมีทั้งเกลือ ชูรส และอาจผสมกับผัก ผลไม้ที่มีโซเดียมสูงจนออกมาเป็นซอสรสอร่อยแต่ไม่ดีต่อสุขภาพ ดังนั้นควรกินน้อย ๆ เพื่อร่างกายของเราจะดีกว่า


5. อาหารสำเร็จรูป อาหารแปรรูป

ไส้กรอก แหนม อาหารหมักดอง ของแช่อิ่ม อาหารกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารเหล่านี้ล้วนแต่เป็นอาหารที่มีโซเดียมสูงทั้งสิ้น 


6. ต้มเล้ง

เมนูที่กลายเป็นเมนูฮิตติดชาร์จถูกปากคนไทยด้วยชาติเผ็ดเค็มเปรี้ยวถึงใจ แต่ก็อุดมไปด้วยโซเดียมจากเกลือ น้ำปลา ผงชูรส และเครื่องปรุงอื่น ๆ 


7. ของหวานและเบเกอรี่บางชนิด

บางคนอาจสงสัยว่าของหวานและเบเกอรี่ก็เป็นอาหารที่มีโซเดียมสูงด้วยหรือ? คำตอบคือใช่ เพราะเบเกอรี่บางชนิดมีการใส่ผงฟูซึ่งถือเป็นโซเดียมแต่ไม่มีรสเค็ม ดังนั้นยิ่งใส่ผงฟูมากเท่าไรโซเดียมก็ยิ่งสูงมากขึ้นเท่านั้น ใครชอบของหวานอาจตัวบวมเพราะโซเดียมแบบไม่รู้ตัว


วิธีลดโซเดียม กินอย่างไรให้สุขภาพดี



หากไม่อยากเสียสุขภาพ เกิดโรคร้าย และร่างกายพังก่อนวัยอันควร ลองมาดูกันว่าจะมีวิธีลดโซเดียมในชีวิตประจำวันได้อย่างไรบ้าง


1. เลี่ยงอาหารรสจัด ทั้งเปรี้ยว เค็ม เผ็ด และหวานจัด

2. ลดการใช้ผงชูรส ไม่ปรุงอาหารด้วยผงชูรสมากเกินไปแต่ควรใส่ในปริมาณที่เหมาะสม

3. เลือกกินอาหารสด ปรุงสุกใหม่ เลี่ยงอาหารกระป๋อง อาหารสำเร็จรูป ของหมักดอง

4. กินน้ำซุปต่าง ๆ ให้น้อยลง

5. อ่านฉลากอาหารประเภทต่าง ๆ และสังเกตค่าโซเดียมอยู่เสมอ

6. เลือกใช้เครื่องปรุงแบบโซเดียมต่ำ ซึ่งปัจจุบันหาซื้อได้ง่ายและสะดวกตามซูเปอร์มาเก็ตทั่วไป

7. กินผักผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น กล้วย ลูกเกด ลูกพรุน แครอท หน่อไม้ฝรั่ง มะเขือเทศ เป็นต้น เพราะมีส่วนช่วยลดโซเดียมตามธรรมชาติได้


และนี่ก็คืออาหารที่มีโซเดียมสูงที่เราควรเลี่ยงในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ยังต้องเลี่ยงอาหารรสจัด ของมัน และของทอดด้วย เพราะถึงโซเดียมจะมีประโยชน์หลายอย่างต่อร่างกาย แต่หากเรากินมากไปล่ะก็ อาจส่งผลเสียได้ในระยะยาว 

แชร์ :