กว่าหลายร้อยปีที่ประเทศไทย มีพระราชพิธีฉัตรมงคล นับตั้งแต่สมัยพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ซึ่งตามประวัติวันฉัตรมงคล ถือเป็นวันที่ระลึกถึงการครบรอบปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับพระบรมราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์อย่างสมบูรณ์ตามประเพณี และในสมัยปัจจุบัน วันฉัตรมงคลถูกกำหนดขึ้นตามวันบรมราชภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการราชพิธีนี้ขึ้นในวันที่ 4 พ.ค. ของทุกปี


ประวัติวันฉัตรมงคล 



ตามพจนานุกรม กล่าวว่า วันฉัตรมงคล หมายถึง “พระราชพิธีฉลองพระเศวตฉัตร ทำในวันซึ่งตรงกับวันบรมราชาภิเษก” ซึ่งประวัติวันฉัตรมงคลนี้ เป็นพระราชพิธีที่สืบเนื่องต่อกับมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 โดยในอดีต มีบันทึกเกี่ยวประวัติวันฉัตรมงคล นี้ไว้ว่าเป็น “งานหลวงครั้งแรก” ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2393 ซึ่งเป็นพระราชพิธีฉลองเศวตฉัตร ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ตามเดิมนั้น พิธีนี้ถือเป็นงานส่วนตัว ที่จัดขึ้นในเขตพระราชฐานและมีพระราชดำริว่า


“วันที่พระองค์ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกนั้น เป็นมหามงคลสมัยซึ่งประเทศ ทั้งปวงที่มีพระเจ้าแผ่นดินย่อมนับถือวันนั้นเป็นวันนักขัตฤกษ์มงคลกาล แต่ในกรุงสยามมิได้มีการนักขัตฤกษ์อันใด ครั้งนี้วันบรมราชาภิเษกของพระองค์ ตรงกับสมัยที่เจ้าพนักงานได้สมโภชเครื่องราชูโภคแต่เดิมมา ควรที่จะมีการสมโภชพระมหาเศวตฉัตรให้เป็นสวัสดิมงคลแก่ราชสมบัติ จึงได้ทรงพระราชดำริจัดการพระราชกุศล พระราชทานนามว่า ‘ฉัตรมงคล’ ขึ้น”


ในครั้งนั้นพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ได้มีการสวดมนต์ เลี้ยงพระ สมโภชพระมหาเศวตฉัตร ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทและพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้มีการเพิ่มการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า แก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้อราชการที่ได้รับพระราชทานพานทองด้วย จึงย้ายเวลาจัดพระราชพิธีฉัตรมงคล จากเดือน 6 มาทำในเดือน 12 และเรียกว่า การสมโภชพระมหาเศวตฉัตร มีการจัดพระราชพิธีรวม 4 วัน


วันฉัตรมงคล มีความสำคัญอย่างไร



ประวัติวันฉัตรมงคล นั้น เป็นพระราชพิธีที่จัดขึ้นเพื่อสมโภช เครื่องราชกกุธภัณฑ์ในพระบรมมหาราชวัง โดยเจ้าพนักงานจะอัญเชิญเครื่องมงคลสิริเบญจราชกกุธภัณฑ์ ขึ้นประดิษฐานบนพระแท่นใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร หลังจากนั้น พระราชครูจะอ่านประกาศพระราชพิธีฉัตรมงคล พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์เย็น สำหรับเครื่องสิริเบญจราชกกุธภัณฑ์ ประกอบด้วย 


พระมหาพิชัยมงกุฎ ตามประวัติวันฉัตรมงคล สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ประกอบด้วยทองคำ หนัก7.3 กิโลกรัม พร้อมประดับเพชร พระมหาวิเชียรมณี ที่ยอดมงกุฎ ในสมัยรัชกาลที่ 4 


พระแสงขรรค์ชัยศรี หรือพระแสงราชศัสตราวุธประจำพระองค์พระมหากษัตริย์ ลักษณะเป็นมีดยาวคล้ายดาบ คมทั้ง 2 ด้าน ตรงกลางทั้งหน้าหลังคมคล้ายหอก ถือเป็นสัญญาลักษณ์แห่งพระอาญาสิทธิ์ในการปกครอง 


ธารพระกร ในสมัยรัชกาลที่ 1 โปรดให้สร้างจากไม้ชัยพฤกษ์ปิดทอง หัวและสันเป็นเหล็กคร่ำคล้ายทอง สุดส้นเป็นส้อมสามง่าม เรียก ธารพระกรชัชยพฤกษ์ ภายหลัง รัชกาลที่ 4 โปรดให้สร้างด้วย ทองคำ ภายในมีพระเสน่า ยอดมีรูปเทวดา เรียกว่า ธารพระกรเทวรูป มีลักษณะเป็นพระแสงดาบมากกว่า และครั้งถึงรัชกาลที่ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ธารพระกรชัยพฤกษ์ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสืบมา สื่อความหมายถึงชัยชนะ 


วาลวิชนี หรือพัดและแส้ เป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ตามคติอินเดีย ตามประวัติวันฉัตรมงคล สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 พัดเป็นใบตาลปิดทอง 2 ข้าง ขอบขลิบทองคำ ด้ามทำจากทองลงยา และต่อมาในสมัย รัชกาลที่ 4 ทรงพระราชดำริให้เรียกว่า วาลวิชนี ตามภาษาบาลี เป็นเครื่องโบก ทำจากขนหางจามรี และขนหางช้างเผือก ใช้ควบคู่กับพัดใบตาล


ฉลองพระบาทเชิงงอน หรือรองเท้าสวมพระบาท ทำจากทองคำลงยา ราชาวดีฝังเพชรสำหรับรองเท้านี้พระมหาราชครูพราหมณ์จะเป็นผู้สวมถวายทีละข้าง อันแสดงถึงพระบรมเดชานุภาพที่แผ่ไปทุกแห่งหนที่ได้เสด็จพระราชดำเนินถึง 


หลังจากจบพิธีสงฆ์ จะมีการยิงปืนใหญ่เฉลิมพระเกียรติจาก ทหารบกและทหารเรือ ฝ่ายละ 21 นัด และยังมีพิธีพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และผู้ทำความดีแก่ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์


สำหรับกิจกรรมวันฉัตรมงคลของทุกปีประชาชนทั่วไปสามารถ ร่วมทำบุญตักบาตร ถวายเป็นพระราชกุศล เพื่อเป็นมงคลชีวิต หรือร่วมทำความดี ปลูกต้นไม้ ช่วยเหลือสังคม และทำกิจกรรมจิตอาสา 


จาก ประวัติวันฉัตรมงคล ถือเป็นวันนักขัตฤกษ์มงคล มาตั้งแต่ครั้งสมัยรัชกาลที่ 4 สืบเนื่องมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน ซึ่งความสำคัญของพระราชพิธีนี้ตามประวัติวันฉัตรมงคลนั้น เป็นพระราชพิธีฉลองเศวตฉัตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเป็นวันแห่งการระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี สำหรับในปีนี้ วันฉัตรมงคล จะตรงกับวันที่ 4 พ.ค. 2566 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้งดการจัดพระราชพิธีดังกล่าว เนื่องจากพระองค์และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินี จะเสด็จ พระราชดำเนิน ทรงร่วมงานพระราชพิธีราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร

แชร์ :